เราควรจะพกงั่งและเป๋อยังไง
มีน้องๆถามมาหลายคนครับว่าควรจะพกงั่งและเป๋ออย่างไรหรือใช้งานยังไง ซึ่งผมขอตอบในเรื่องการพกงั่งและเป๋อก่อนแล้วกันนะครับ
เพราะว่าอันนี้มันเป็นเรื่องของ Packaging (ซึ่งผมถนัดครับ) แหม่ๆๆ พูดซะเป็นการเป็นงานเลยทีเดียว
อ้าว…ว ก็บอกแล้วไงครับว่าผมถนัด ก็ต้องพูดเรื่องนี้สิครับ
ไอ้เรื่องการใช้งานมันเป็นเรื่องของ Concept จึงอธิบายยาก (ประเภทว่าต้องมีคาถาปลุกไหม ใช้คาถาอะไร ต้องพูดว่าอย่างไร เอาไว้วันหลังนะครับ หรือไม่ก็ไปหาอ่านในบทความอื่นๆของผมก็น่าจะได้คำตอบ)
พื้นฐานความเชื่อของงั่งและเป๋อเค้าเล่ามาว่า ให้อยู่ต่ำกว่าพระ ดังนั้นการใช้งานส่วนใหญ่จึงมักจะเป็นการผูกแขวนเอว (สมัยโบราณ)
เพราะถ้าให้พกในกระเป๋าคงไม่สะดวกเนื่องจากคนสมัยก่อนเค้าใส่กางเกงที่ไม่ค่อยมีกระเป๋า ยิ่งเป็นพวกชาวบ้านด้วยแล้วเผลอๆใส่กางเกงแบบชาวนา ชาวเล
อีกอย่างครับ การพกงั่งและเป๋อใส่กระเป๋ามักจะ “เสี่ยง” ต่อการตก/หล่น/ลืม ซึ่งดูแล้วคงไม่ดีแน่ครับ เพราะฉะนั้นไม่ต้องแปลกใจที่เวลาเราได้งั่งเก่าๆมา มักจะมีเชื่อกผูกติดมาด้วย
ซึ่งนี่ก็เป็นข้อสังเกตได้อย่างหนึ่งครับว่างั่งและเป๋อที่เราได้มาเป็นของเก่าผ่านการใช้งานมามากน้อยแค่ไหน เพราะพวกส่วนประกอบต่างๆ เช่น เชือก รอยการรัด การสึกจากการถูกับเชือก หรือคราบไคลต่างๆที่เกาะตามซอกหลืบของงั่งที่เกิดจากการรัดของเชือก มันสามารถบอกอะไรได้หลายๆอย่างครับ
บางคนผมก็เจอแบบว่าพกใส่กระเป๋ากางเกงมานานครับ ไม่มีรอยสึกจากเชือกผูก แต่จะเกิดความมันเงาจากการเสียดสีของตัวงั่งและเป๋อกับเนื้อผ้า ทำให้เกิดการเปลี่ยนสีของโลหะตามภาพ ซึ่งดูแล้วก็แปลกตาดีนะครับ
เอาล่ะครับ…เกริ่นมาซะยาว มาเข้าเนื้อหากันเลยครับ ผมมีพื้นฐานการใช้ตะกรุดแขวนเอวมาก่อนตอนเป็นเด็ก ดังนั้นการที่จะเอางั่งและเป๋อมาแขวนเอว ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับผม
โดยผมเริ่มจากการเอาเชือกผูกรองเท้า!!! ไม่ต้องตกใจนะครับ เพราะว่าผมใช้เชือกผูกรองเท้าที่ซื้อมาใหม่และยังไม่ได้ใช้งาน ผมใช้สีดำแบบเคลือบแว๊กซ์และขนาดยาวหน่อย (ไม่ใช่เชือกธรรมดาๆนะครับ เป็นแบบพรีเมี่ยมสำหรับผูกรองเท้าคอนเวิร์สโดยเฉพาะ ซึ่งเชือกแบบนี้ไม่ได้หาซื้อได้ทั่วไปนะครับ เส้นนี้ซื้อมาจากสยามร้านดังที่จำหน่ายรองเท้า Converse โดยเฉพาะ)
ได้งั่งมาปุ๊ปก็จับเชือกมัดกับงั่งปั๊ปโดยที่ก่อนจะมัดผมก็จะนึกในใจบอกกับงั่งของผมก่อนครับ ซึ่งการใช้เชือกแบนแบบเคลือบแว๊กซ์มัดงั่งนั้นก็ไม่ง่ายนะครับ ต้องนั่งผูก นั่งแกะอยู่หลายรอบกว่าจะถูกใจผม
ภาพก็จะออกมาประมาณนี้ครับ ซึ่งผมเชื่อว่านี่คือครั้งแรกของโลกในการ Collab : Collaboration (คะแลบบะเร’เชิน) แปลว่า n. การร่วมมือกัน, การสมรู้ร่วมคิด, ผลิตผลของการร่วมมือกัน ระหว่าง “งั่งเขมรตาโปนอุดกริ่ง” กับ “เชือกผูกรองเท้าคอนเวิร์สเคลือบแว๊กซ์แบบพิเศษ” (เฮ้ย…ย นี่มันอะไรกันเนี่ย!!!)
ผมก็ใช้แบบนี้มาสักพัก เนื่องจากตอนผูกเชือกมัดงั่งตัวแรกของผม ผมมีเชือกแบบนี้แบบเดียวครับ การใช้ก็ง่ายๆครับ เอามาผูกเอวแล้วก็หาเหลี่ยมที่เหมาะสมในการที่จะให้งั่งและเป๋อของคุณอยู่ ณ.ตำแหน่งนั้นๆของเอว
แต่…ทุกอย่างย่อมมีจุดเปลี่ยนครับ หลังจากที่ผมใช้เชือกรองเท้ามาสักพัก (ตอนนั้นมีงั่งอยู่ 2 ตัวครับ) ผมกลับไปที่บ้านคุณพ่อและคุณแม่ ก็ได้พบกับสายสัญญาณโทรศัพท์หลากหลายสี
ด้วยจินตนาการล้ำเลิศของผม จึงคิดได้ว่าน่าจะเอาสายไฟแบบนี้ มาถักเป็นเชือกมัดตัวงั่ง ซึ่งผมเองเป็นคนชอบอะไรสีสวยๆอยู่แล้ว จึงชอบสายไฟแบบนี้เป็นพิเศษ
คิดได้ดังนั้นจึงเริ่มดำเนินการทันทีครับ การนั่งมัดสายไฟเข้ากับตัวงั่งครั้งแรกนั้น จะใช้วิธีง่ายๆ เพื่อทดลองรูปแบบและลวดลายการมัด ซึ่งดูจากภาพแล้วก็คงจะเห็นว่ามัน “ป่วง” มากครับ 555 อ้าว!!! ก็นี่มัดครั้งแรกนี่ครับ ถ้าออกมาเทพเลยก็แปลกแล้ว
พอมัดตัวแรกได้ ก็มัดตัวอื่นไปด้วย นั่งทำทุกวันครับ ทำไปทำมา ก็ตัดออกแล้วทำใหม่ ในช่วงหัดมัดแรกๆ ผมนั่งทำทุกวัน ซึ่งตัวนึงผมใช้เวลาประมาณ 1.5 – 2 ชั่วโมงในการมัด ทำทุกวัน
ผูกแบบผูกคอกับฐานในช่วงแรก และเปลี่ยนมาเป็นมัดแบบสะพายแล่ง(เหมือนใส่เสื้อกล้าม) นั่งทำจนแฟนบ่นครับ ว่าจะมัดอะไรนักหนา มัดแล้วแก้ มัดแล้วตัดออก เดี๋ยวเบื่อก็เปลี่ยนสี เปลี่ยนแบบ
ก็อย่างว่าครับ มาอยู่กับผมมันต้องเก๋ครับ จะผูกแบบบ้านๆก็คงไม่ใช่ งั่งและเป๋อของผมต้อง POP ครับ
ผมแค่เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับงั่งและเป๋อของผม ก็แค่นั้นแหล่ะครับ
พอผมมัดจนเซียนแล้ว ก็ปรับตำแหน่งห่วงด้านหลังหลายๆแบบ ให้เหมาะกับตำแหน่งในการแขวนและการใช้งาน เพราะว่างั่งและเป๋อแต่ละแบบ มีขนาด รูปทรงที่ต่างกัน
การแขวนใช้งานและระดับความสูงของห่วงแขวนมีความสำคัญมาก เพราะงั่งแบบที่ผมชอบนั้น “หัวแหลมๆทั้งนั้น” ผูกอยู่ตำแหน่งไม่ดี ถึงขั้นเจ็บจี๊ดกันเลยทีเดียว ดีไม่ดีถึงขั้นเป็นหมัน 555
โดยเฉพาะ “มะขามเทศ” ตัวแรกและหนึ่งเดียวของผม หัวแหลมมว๊าก…ก ทิ่มแทงผมมาหลายหน ผมก็ต้องปรับตำแหน่งห่วงเพื่อหาระยะที่เหมาะสม จนสุดท้ายก็ต้องใช้การถักเชือกเพื่อให้มีระยะ Safety zone เอาไว้ด้วย จะได้ผูกใช้งานได้ถนัดๆ
เวลาผมแขวนใช้งานนี้ ผมแขวนทั้งวันนะครับ ตอนนอนก็ใส่ ไอ้ช่วงเวลากลางวันนี้ไม่ยากครับ เพราะกะระยะดีๆ เผื่อระยะเชือกไว้ก็รอดแล้วครับ แต่ไอ้ที่ปราบเซียนของผมคือตอนนอนครับ
แรงดึงดูดของโลกและระยะเชือกไม่มีผลมากครับ มันเป็นเรื่องการจัดวางตำแหน่งและกระบวนท่าในการนอนครับ ที่ส่งผลโดยตรงต่อการโดนงั่ง “ทิ่ม” ถ้าตำแหน่งไม่ดีนี่ตื่นทั้งคืนครับ พลิกตัวทีก็ตื่นที เจริญล่ะครับ
ถามว่าทำไมตอนนอนต้องผูก อ้าว!!! มีของดีมาใช้ก็ต้องอยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมงสิครับ ใครเค้าเอาไว้ห่างตัวกันล่ะของพวกนี้ อาบน้งอาบน้ำไปด้วยกันหมด ใช้สบู่กับแป้ง ก็เหมือนกับที่ผมใช้เพราะใช้พร้อมกัน
สนุกสนานกันเลยทีเดียว ซึ่งการใช้งานแบบติดตัวตลอดแบบผม จะทำให้งั่งนั้นสะอาดครับ เพราะงั่งที่มีคราบกรังๆติดมานั่น เจ้าของเก่าเค้าใช้โดยไม่เอาอาบน้ำหรือใช้โดยไม่เคยล้างนั่นเอง
ซึ่งผมให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากครับ (ถ้าใครเคยอ่านบทความแรกๆของผมคงทราบว่าเวลาผมได้งั่งมาใหม่ จะต้องล้างน้ำเกลือ+เช็ดด้วยแอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อโรคก่อนครับ)
ไม่ต้องกลัวครับว่าอาบน้ำบ่อยๆงั่งจะไม่ขลัง หรือว่าไม่เก่า เพราะว่า “ความขลัง”และ”ความเก่า” ของงั่งนั้น มันคนละเรื่องกับความสะอาดครับ ต้องแยกเรื่องนี้ให้ออก!!!
ไอ้คราบความเก่าต่างๆมันอาจจะหลุดออกไปบ้าง แต่ส่วนที่อยู่ตามซอกต่างๆนั้น ยังอยู่ครับ ส่วนเนื้อโลหะที่หม่นๆดูเก่าๆ มันก็จะดูสุกขึ้น
ถ้าเป็นพวกเนื้อทองดอกบวบก็จะสุกเป็นทอง ถ้าเป็นพวกทองแดงเถื่อนก็จะเปลี่ยนเป็นสีส้มสีชมพูกันเลยทีเดียว พวกเนื้อสำริดก็โชว์เนื้อโลหะเลยครับ
ถ้าผมกลัวว่าถ้าเอางั่งและเป๋อไปอาบน้ำหรือล้างน้ำแล้ว งั่งจะไม่เก่าหรือจะไม่ขลัง งั่งของผมคงอดเล่นสระว่ายน้ำ และคงอดเล่นน้ำทะเล (ซึ่งอันนี้น่าสงสารงั่งและเป๋อนะครับ)
***กรณีเดียวของการที่จะไม่เอางั่งไปล้างน้ำ/อาบน้ำ เพราะว่ากลัวราคาตกเพราะว่าดูแล้วไม่เก่า ซึ่งผมไม่จัดอยู่ในกรณีนี้ ก็เลยไม่ต้องกังวลครับ***
หลังจากที่ใช้งั่งและเป๋อแบบมัดด้วยสายไฟมานาน ผมก็รู้สึกว่า เราสามารถใช้เชือกมัดแทนสายไฟได้เช่นกัน
ผมก็เปลี่ยนจากสายไฟมาเป็นเชือกสีๆ ที่ผมซื้อมาสำหรับทำสายแขวนเอว ก็ใช้งานได้เหมือนกันครับ เนื่องจากผมมีแต่เส้นใหญ่ๆ การมัดและการผูกทำให้เกิดปมขนาดใหญ่ เวลาใส่กระเป๋ากางเกงหรือกระเป๋าเสื้ออาจจะนูนขึ้นมานิดนึงครับ
แต่ข้อดีของการมัดด้วยเชือกก็คือ สามารถแกะออก/ผูกกลับเข้าใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ตามที่ต้องการ ถ้าเป็นการถักด้วยสายไฟนี่ ต้องตัดออกสถานเดียว จะผูกใหม่ก็ต้องใช้เวลา 1.5-2 ช.ม. อย่างที่ผมบอก (อันนี้ต้องคิดให้ดีก่อนตัดครับ)
และการใช้เชือกมัดตัวงั่งนั้น ก็ทำให้เราพกงั่งและเป๋อได้ไม่ต่างจากใช้สายไฟมัดเลยครับ ทีนี้ก็อยู่ที่ความชอบแล้วครับว่าจะเลือกแบบไหน
ถ้าอยากได้แบบถาวร ผมแนะนำให้ใช้สายไฟมัดครับ ซึ่งอันนี้ต้องใช้ทักษะหลายด้านครับ แต่ถ้าคิดว่าเราทำไม่ได้หรือยากเกินไป ใช้เชือกมัดเอาก็ได้ครับ แต่ต้องมัดและผูกปมดีๆนะครับ มัดไม่แน่นนี่หลุดหายได้นะครับ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน
เอาล่ะครับ ลองดูรูปแบบการมัดเชือกและสายไฟกับตัวงั่งในแบบต่างๆของผมกันครับ
สังเกตุดูง่ายๆครับ ถ้าคุณเห็นรูปงั่งและเป๋อที่มีการมัดสายไฟแบบนี้ในเน็ต ไม่ต้องเดาครับ ของผมแน่ๆ
ยังไม่รวมกับสีเชือกที่ผมใช้นะครับ แค่เห็นก็รู้แล้วครับว่างั่งและเป๋อตัวนี้มาจากสังกัดไหน…ชิมิ
หวังว่าวันนี้ทุกคนคงจะมีไอเดียสร้างสรรค์ในการมัดเชือก/สายไฟเข้ากับตัวงั่งนะครับ วันนี้ขอลาก่อนครับ แล้วพบกันใหม่
แอดเป็นเพื่อนกับ MODERN MAJIK ใน Line
คุณจะไม่พลาดข่าวสารและบทความล่าสุดจากเรา
iPher/ePher รุ่น LOVE & PEACE
จัดสร้างโดย MODERN MAJIK
กำหนดเปิดจอง iPher/ePher ปลายปี 2562
(ประมาณเดือน พ.ย.)
รายละเอียดคลิกที่รูปด้านล่างครับ
พี่ครับมีเฟชไหมครับอยากจะถามหลายเรื่องเลยครับ
http://www.facebook.com/modernmajik