วันนี้ขออธิบายความหมายของวัตถุมงคลเนื้อต่างๆที่ทาง MODERN MAIK ได้จัดสร้างขึ้นมา เพื่อให้เข้าใจที่มาและลักษณะทางกายภาพที่ปรากฏครับ
เนื้อทองทิพย์ (Magic Brass)
เนื้อทองทิพย์ คือ ชื่อเรียกเนื้อพระหรือวัตถุมงคลที่หล่อจากเนื้อทองเหลืองผสมกับชนวนมวลสารต่างๆ โดยสีของเนื้อโลหะที่ออกมาจะเป็นสีเหลืองทอง สีสุก เนื่องจากโลหะหลักที่ใช้คือทองเหลือง ซึ่งในปัจจุบันเนื้อทองเหลืองมีความบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นจากเทคโนโลยีในการผลิตที่พัฒนาขึ้น
ในช่วงหลังๆพบว่ามีความนิยมในการตั้งชื่อ “เนื้อทองทิพย์” เพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นชื่อที่ฟังแล้วความหมายดี ตัวอย่างของพระเนื้อทองทิพย์คือ พระกริ่งรุ่นธรรมขันธ์ เนื้อทองทิพย์ ที่จัดสร้างโดยวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ปี 2561
เช่นเดียวกับที่ MODERN MAJIK ได้จัดสร้างไอ้เป๋อ/อีเป๋อ (iPher/ePher) ในโครงการ ด้วยรักและสันติ ปี 2562 ก็ได้มีการจัดสร้างเนื้อทองทิพย์เช่นกัน โดยโลหะหลักที่ใช้ในครั้งนั้นคือเนื้อทองเหลืองเก่า ใช้เป็นมวลสารหลักผสมชนวนมวลสารต่างๆเพิ่มเข้าไป นั่นจึงทำให้เนื้อทองทิพย์นอกจากจะมีสีสวยแล้ว ยังมีความขลังจากมวลสารศักดิ์สิทธิ์ต่างๆที่เพิ่มเข้าไป โดยในปี 2564 โครงการ “ด้วยรักและสันติ 2” ได้มีการจัดสร้าง “งั่งดีและแม่ครูมนต์เสน่ห์เมืองมอญ”เนื้อทองทิพย์ก็ยังคงเป็นทางเลือกแรกที่ต้องมีให้บูชา สืบเนื่องมาจากพระงั่ง แม่เป๋อรุ่นเก่าๆของโบราณนั้น ได้มีการสร้างมาจากเนื้อทองผสม เนื้อทองเหลือง ซึ่งเป็นภาพจำของใครหลายๆคน และยังเป็นเอกลักษณ์ของ MODERN MAJIK ที่ต้องมีเนื้อนี้ออกให้บูชา
ในส่วนของการแต่งผิวแบบต่างๆนั้น ก็เป็นทางเลือกให้ผู้ที่ต้องการสะสมและบูชา มีตัวเลือกมากขึ้น
เนื้อสำริดมงคล (Golden Bronze)
ตามความหมายที่แท้จริง สำริด คือ โลหะผสมที่มีทองแดงเป็นหลัก ซึ่งวัตถุมงคลต่างๆนั้นนิยมทำด้วยเนื้อสำริดเนื่องจาก “สำริด” สามารถเขียนว่า “สัมฤทธิ์” ได้เช่นกันมีความหมายเดียวกัน ซึ่งในภาษาไทยคำว่าสัมฤทธิ์แปลว่าความสำเร็จ เนื้อสำริดมงคลที่ MODERN MAJIK ได้ตั้งชื่อนี้ขึ้นมานั้นเกิดจากต้องการความหมายของชื่อที่ดี เป็นมงคล จึงเลือกเขียนคำว่า สำริด (แบบโบราณ) และเติมคำว่า “มงคล” ต่อท้าย รวมกันได้คำว่า “สำริดมงคล” และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Golden Bronze ซึ่งแปลได้ว่า เนื้อสำริดที่มีค่าดั่งทองคำ
โดยส่วนผสมหลักของเนื้อสำริดมงคลคือทองแดง ผสมกับชนวนมวลสารต่างๆเข้าไปเพื่อให้เกิดความเป็นมงคลและความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งหากอ้างอิงพระงั่งเก่าแบบโบราณนั้น พระงั่งเนื้อทองแดงเถื่อนถือเป็นพระงั่งพิมพ์นิยมและเป็นพระงั่งพิมพ์ที่หลายคนอยากมีในครอบครอง ซึ่งเนื้อสำริดมงคลนั้นหากใช้งานจนผิวเปิดหรือผิวกลับแล้ว สีผิวจะออกเหมือนเนื้อทองแดงเถื่อน ซึ่งจะช่วยให้ดูขลังเหมือนเป็นพระงั่งของเก่าแบบโบราณ ในโครงการด้วยรักและสันติ ปี 2562 ที่ได้จัดสร้างไอ้เป๋อ/อีเป๋อ (iPher/ePher) จึงถือเป็นครั้งแรกของการเรียกชื่อเนื้อโลหะชนิดนี้ ซึ่งในปี 2564 โครงการด้วยรักและสันติ 2 “งั่งดีและแม่ครูมนต์เสน่ห์เมืองมอญ” ก็มีการจัดสร้างเนื้อสำริดมงคลด้วยเช่นกัน มีการแต่งผิวแบบต่างๆเพื่อให้เกิดความหลากหลายมากขึ้น