โลหะวิทยาพระงั่ง ตอนที่ 3 (พระชัยอยุธยา)
Phra Ngang Metallurgy 3 (Phra Chai Ayutthaya)
หลังจากที่ได้ดูส่วนผสมทางโลหะวิทยาของพระงั่งแบบฐานดิน (ตอนที่ 1) และพระงั่งทองแดงเถื่อน (ตอนที่ 2) ไปแล้ว วันนี้เรามาดูกาารตรวจสอบทางโลหะวิทยาของพระชัยกันครับ ความพิเศษของตอนนี้ก็คือผมนำพระชัย 2องค์ของผม ซึ่งคนละพิมพ์ส่งไปตรวจสอบ
โดยผมตั้งคำถามว่า ถ้าพระชัย 2 องค์ เป็นพิมพ์ที่แตกต่างกัน จะมีเนื้อโลหะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?
ในครั้งนี้ ผมไม่ได้ตั้งสมมติฐานอะไรไว้เลยครับ ปล่อยหัวว่างๆ รอดูผลตรวจอย่างเดียวเลยครับ ซึ่งก็เหมือนเช่นเคยครับ การตรวจสอบในครั้งนี้ตรวจโดยห้องปฏิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่า สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ด้วยวิธี X-Ray Fluorescence (XRF) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้ในการวิเคราะห์หาปริมาณธาตุองค์ประกอบในตัวอย่างชิ้นงาน
หลังจากที่ส่งตรวจไปเมื่อวันศุกร์ที่ 14 มี.ค. 68 วันอังคารที่ 18 มี.ค. 68 ผลตรวจก็ออกครับ
ผมส่งตรวจไปทั้งหมด 4 องค์ แต่จะขอแชร์ข้อมูลเฉพาะผลตรวจพระชัย 2 องค์ก่อนครับ

พระชัย องค์ที่ 1 (เกศบิด – องค์ถักเชือก)
ในรายงานระบุว่า #ตัวอย่างไม่มีความเป็นเนื้อเดียวกัน หมายความว่า ส่วนผสมของโลหะที่ตรวจพบในแต่ละจุด มีค่าที่แตกต่างกันมาก เนื่องจากการตรวจด้วยวิธี XRF นั้น จะทำการยิงรังสี X ลงบนองค์พระจำนวน 5 จุดที่แตกต่างกัน เพื่อให้การตรวจสอบมีความถูกต้องมากที่สุด
ย้อนกลับไปที่การตรวจพระงั่งแบบฐานดินและแบบทองแดงเถื่อน ทุกองค์ที่ตรวจ ทั้ง 5 จุดที่เอ็กซเรย์ จะมีส่วนผสมของโลหะที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งการตรวจพระชัยรอบนี้ 2 องค์ พบว่าในแต่ละจุดนั้นตัวอย่างไม่มีความเป็นเนื้อเดียวกัน (แต่ละจุดส่วนผสมมีค่าท่แตกต่างกัน)
สำหรับพระชัยองค์ที่ 1 นั้น จะแบ่งการตรวจสอบออกเป็น 2 ส่วน คือ
- ส่วนองค์พระ (ตั้งแต่เศีpรจนถึงใต้เข่า) ส่วนนี้จะมีแต่โลหะ ตำแหน่ง 5 จุดที่เอ็กซเรย์ได้แก่ หน้าผาก มือ หน้าตัก เศียรด้านหลัง สะโพก
- ส่วนฐานพระ (ตั้งแต่ใต้เข่าลงไป) ส่วนนี้จะมีทั้งโลหะ และส่วนที่เป็นเนื้อดินดำที่มีลักษณะแข็ง ตำแหน่ง 5 จุดที่เอ็กซเรย์ ได้แก่ ฐานด้านหน้าที่เป็นโลหะ 2 จุด ฐานที่เป็นดินดำด้านหน้า ฐานด้านหลังที่เป็นโลหะ ฐานที่เป็นดินดำด้านหลัง

พระชัย องค์ที่ 2
เป็นองค์ที่มีเนื้อโลหะทั้งองค์ การตรวจด้วยการยิงรังสี X ลงบนองค์พระจำนวน 5 จุด จึงการจายยิงไปทั่วองค์พระทั้งด้านหน้าและด้านหลัง
รอบนี้ผมตื่นเต้นนิดหน่อย เพราะปกติที่ผมส่งพระงั่งตรวจ จะตรวจแต่โลหะ (ไม่ได้ตรวจดินใต้ฐานด้านใน) แต่ครั้งนี้เนื่องจากเป็นพระชัย ซึ่งพระชัยองค์ที่ 1 (เกศบิด) มีส่วนที่เป็นดินดำอยู่ใต้ฐานชัดเจน เจ้าหน้าที่ห้องแล็ปโทรมาถามผมว่าจะตรวจในส่วนใต้ฐานด้วยไหม ผมจึงตกลงให้ตรวจส่วนนี้เพิ่ม
ดังนั้นในใบรายงานผล จึงมีคอลัมน์ผลการตรวจ 2 คอลัมน์ครับ (คอลัมน์คือ ผลการตรวจในตารางที่เป็นแนวตั้ง) เพื่อให้ง่ายในความเข้าใจ ผมทำกรอบสีแยกเอาไว้
*กรอบสีน้ำเงิน คือ ผลการตรวจส่วนองค์พระ (ตั้งแต่เศีบรจนถึงใต้เข่า)
*กรอบสีส้มคือ คือ ผลการตรวจในส่วนฐานพระ (ตั้งแต่ใต้เข่าลงไป)
ซึ่งผมจะขอไม่อธิบายลงลึกในสัดส่วนขององค์ประกอบที่พบในแต่ละประเภทนะครับ เพราะว่าตรวจพบธาตุทั้งหมด 12 ธาตุ โดยผมจะใส่ลิงค์ในคอมเมนต์ของธาตุทั้งหมดไว้ให้ไปตามอ่านกันต่อ
แต่จะขอพูดในภาพรวมครับว่า ถ้าเป็นพระงั่งแบบฐานดิน โลหะหลักที่พบจะเป็นส่วนผสมระหว่างทองแดงและสังกะสี ซึ่งส่วนผสมดังกล่าวจะกลายเป็น #ทองเหลือง และผมเองก็เคยนำไอ้เป๋อไปตรวจ พบว่าโลหะหลักที่ตรวจเจอคือ ทองแดง พลวง และดีบุก ซึ่งส่วนผสมนี้คือ #สำริด
ดังนั้นในการตรวจส่วนผสมทางโลหะวิทยาของพระชัยทั้ง 2 องค์ในครั้งนี้ ผลที่ออกมาค่อนข้างแปลกครับ เพราะโลหะหลักที่พบ (มีสัดส่วนมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์) คือ ทองแดง และสังกะสี แต่ก็มีโลหะที่พบว่ามีปริมาณมาก (มากกว่า 1 เปอร์เซ็นต์แต่ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์) นั่นคือ ดีบุก และตะกั่ว
จากคำถามของผมที่ตั้งไว้ก่อนตรวจที่ว่า ถ้าพระชัย 2 องค์ เป็นพิมพ์ที่แตกต่างกัน จะมีดเนื้อโลหะเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?
ผลที่ออกมาคือ มีความคล้ายกันครับ เพราะการตรวจส่วนที่เป็นโลหะของพระ มีส่วนผสมที่เป็นโลหะหลัก คือ ทองแดง และสังกะสี เหมือนกัน และก็ยังพบโลหะที่พบว่ามีปริมาณมากนั่นก็คือ ดีบุกและตะกั่ว เช่นกัน ถึงแม้ตัวเลขจะไม่เท่ากันเป๊ะๆ แต่สัดส่วนการผสมก็ดูเหมือนจะคล้ายคลึงกัน
ในส่วนของพระชัย องค์ที่ 1 (เกศบิด) ที่มีการตรวจบริเวณฐานพระที่มีทั้งส่วนที่เป็นโลหะและดิน ก็พบธาตุต่างๆ เช่น ทองแดง สังกะสี ตะกั่ว เหล็ก แคลเซียม โพแทสเซียม ไทเทเนียม แมงกานีส สตรอนเซียม และนิกเกิล
อ่านค่าดูผ่านก็ดูแปลกดีที่มีเยอะ แต่ที่ต้องพูดถึงคือ ไทเทเนียม และสตรอนเซียม ครับ มาอยู่ในพระชัยองค์นี้ได้อย่างไร
การตรวจเจอ ทองแดง สังกะสี ดีบุก ตะกั่ว เหล็ก และนิกเกิล ยังพอเข้าใจได้ครับ เพราะเป็นโลหะที่ตรวจพบเจออยู่ประจำ (อ้างอิงจากการตรวจพระงั่งแบบฐานดิน และพระงั่งพิมพ์อื่นๆที่ผมตรวจ)
การตรวจเจอ แคลเซียม โพแทสเซียม แมงกานีส อันนี้ก็เข้สใจได้ครับ เพราะว่าเป็นการตรวจเจอในส่วนที่เป็นดินดำ ซึ่งแร่ธาตุต่างๆเหล่านี้ ตรวจพบเจอได้ครับ
ไทเทเนียม และสตรอนเซียม มายังไงหว่า???
ถ้าหากเอาตัวเลขมาดูจะพบว่า ไทเทเนียม มีสัดส่วน 1.72 เปอเซ็นต์ (%) ในขณะที่สตรอนเซียม มีสัดส่วนอยู่ที่ 0.11 เปอเซ็นต์ (%)
ผมได้พูดคุยกับนักวิเคราะห์ (ผู้ที่การตรวจ) ถึงเรื่องนี้ ได้ข้อสังเกตมา 2 อย่างครับ
1.ทางแล็ปยังไม่เคยตรวจสอบพระโลหะที่ตัวอย่างไม่มีความเป็นเนื้อเดียวกันมาก่อน ครั้งนี้เป็นครั้งแรก
2.ทางแล็ปยังไม่เคยตรวจพบไทเทเนียม ที่ผสมมาในพระมาก่อนเช่นกัน พระชัยเกศบิด องค์นี้เป็นองค์แรก
ผมถามว่าว่าค่าในการตรวจ ตัวเลขไหนถึงเรียกว่าน้อยที่สุด เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เครื่อง XRF ที่ใช้ค่าน้อยสุดที่ตรวจพบได้ คือ 0.02 เปอเซ็นต์ (%) ดังนั้นค่าสนตอนเซียมที่เจอ 0.11 เปอเซ็นต์ (%) ถือว่ามีเยอะ
และค่าไทเทเนียม ที่มีสัดส่วน 1.72 เปอเซ็นต์ (%) นั้นถือว่าเยอะมาก ซึ่งตัวเลขนี้บอกได้ว่าในการผสมโลหะในการหลอมนั้น เป็นการตั้งใจใส่โลหะนี้เข้าไป ไม่ใช่เป็นการบังเอิญครับ
ผลการตรวจสอบในครั้งนี้ ผมพอจะมีสมมติฐานคร่าวๆในใจ แต่จะยังไม่ขอสรุปครับ เพราะว่าเพิ่งเริ่มทำการศึกษาและตรวจโลหะวิทยากับพระชัยครั้งแรก
เอาเป็นว่าเรามาเริ่มศึกษาไปพร้อมๆกันครับ