ผลสรุปของการนำพระงั่งไปตรวจสอบด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ใน 2 หัวข้อ มีดังนี้ครับ
1.การตรวจหาอายุของพระงั่ง เพื่อหาความเก่า อายุในการสร้าง – ยังทำไม่ได้ครับ ไม่มีวิธีที่ตรวจสอบได้อย่างแม่นยำ เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานยืนยันตรงกัน
2.การตรวจหาส่วนผสมทางโลหะวิทยา เพื่อดูส่วนผสมในเนื้อของพระงั่ง – ปัจจุบันทำได้ครับมีหลายวิธี ผมส่งตรวจสอบด้วยวิธี X-Ray Fluorescence (เอ็กซเรย์ ฟลูออเรสเซนต์)
ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไร สไลด์อ่านบทความเต็ม 3 ตอนได้ด้านล่างเลยครับ (แนะนำให้เตรียมป็อปคอร์น ขนมกรุบกรอบ กินไปอ่านไปครับ)
ตอนที่ 1 (26 ธ.ค.65)
สวัสดีครับมิตรรักแฟนงั่งของ MODERN MAJIK ห่างหายไปสักพักสำหรับบทความทางวิชาการ (รึเปล่านะ) จากโมเดิร์น เมจิค ช่วงสิ้นปี 2565 แบบนี้ผมพอมีเวลาว่าง จึงรื้อเอาโครงการที่ยังดำเนินการไม่เสร็จเอามาลุยต่อ ซึ่งในตอนนี้เราจะคุยกันถึงเรื่องการตรวจสอบพระงั่งทางวิทยาศาสตร์ ขอแยกหัวข้อออกเป็น 2 เรื่องเพื่อให้เข้าใจง่ายๆดังนี้ครับ
1.การตรวจหาอายุของพระงั่ง เพื่อหาความเก่า อายุในการสร้าง
2.การตรวจหาส่วนผสมทางโลหะวิทยา เพื่อดูส่วนผสมในเนื้อของพระงั่ง
ซึ่งทั้ง 2 หัวข้อนั้น มีหลายท่านสงสัยว่าสามารถทำได้ไหม ทำอย่างไร มีความแม่นยำระดับไหน วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังครับ
1.การตรวจหาอายุของพระงั่ง เพื่อหาความเก่า อายุในการสร้าง
ผมได้ติดต่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่จาก 3 หน่วยงานในหัวข้อนี้ เพื่อปรึกษาและสอบถามว่าเราจะสามารถตรวจสอบความเก่าของพระงั่งได้ไหม โดยหน่วยงานท่ผมติดต่อไปได้แก่
*กรมศิลปากร ส่วนงานที่ดูแลในส่วนของการตรวจสอบหาอายุวัตถุโบราณ โทร. 02-628-5660 / 02-281-6766
*สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(สทน.) ส่วนเทคนิคเชิงนิวเคลียร์ในงานโบราณคดี โทร. 0-2401-9885
*สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) – ส่วนงานตรวจสอบโลหะมีค่า โทรศัพท์ 0-2634-4999
โดยข้อมูลที่ผมสอบถามไป เป็นคำถามที่ว่า เราจะสามารถตรวจสอบอายุพระงั่งได้อย่างไร ซึ่งได้คำตอบมาเหมือนกันก็คือ การตรวจสอบอายุวัตถุโบราณหากจะให้แม่นยำจะต้องตรวจสอบหาอายุของคาร์บอน (ธาตุคาร์บอน) ซึ่งชิ้นงานที่จะใช้ตรวจนั้นต้องเป็นของที่มีอายุหลักพันปี เนื่องจากการตรวจสอบอายุนั้นมีความคลาดเคลือนหลักร้อยปี ดังนั้นหากอายุชิ้นงานที่เราจะตรวจสอบเป็นของอายุหลักสิบ-ร้อยปี จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ (นี่ยังไม่รวมเรื่องเทคนิคที่ใช้ในการตรวจสอบด้วยนะครับ บางวิธีจะต้องทำลายชิ้นงานเพื่อนำไปตรวจสอบ)
โดยการพูดคุยนั้นเป็นการโทรไปสอบถามจากเจ้าหน้าที่ส่วนที่ดูแลงานด้านนี้โดยเฉพาะ รวมถึงการได้พูดคุยกับคุณจักรพันธ์ หัวหน้าส่วนงานตรวจสอบโลหะมีค่า สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สรุปก็คือ ปัจจุบันยังไม่สามารถตรวจสอบอายุพระหรือวัตถุที่มีอายุหลักสิบ-ร้อยปีได้ครับ
2.การตรวจหาส่วนผสมทางโลหะวิทยา เพื่อดูส่วนผสมในเนื้อของพระงั่ง ตรวจดูว่ามีโลหะหรือส่วนผสมชนิดใดบ้าง
ปัจจุบันมีวิธีตรวจสอบหลายแบบ ซึ่งในส่วนนี้มีข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างครับ โดยผมได้โทรคุยกับคุณจักรพันธ์ หัวหน้าส่วนงานตรวจสอบโลหะมีค่า สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โดยคุณจักรพันธ์ได้เล่าให้ฟังว่าการตรวจสอบส่วนประกอบทางโลหะวิทยาที่สถาบันใช้ตรวจสอบนั้น เป็นการตรวจสอบค่าความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่าด้วยเทคนิค X-Ray Fluorescence (เอ็กซเรย์ ฟลูออเรสเซนต์) เป็นการตรวจสอบโดยยิงรังสีเอ๊กซ์ ไปที่พื้นผิวของพระงั่ง ประมาณ 3-5 จุดที่แตกต่างกัน เพื่อนำผลในแต่ละจุดมาวิเคราะห์ว่ามีปริมาณโลหะชนิดใดบ้างในองค์พระงั่ง ข้อจำกัดของการตรวจ เนื่องจากเป็นการตรวจสอบโดยการยิงรังสีไปที่ผิวพระงั่ง ดังนั้นพระงั่งที่ผ่านการชุบ การเคลือบ หรือมีสนิมหนาจะตรวจสอบไม่ได้ หรือถ้าตรวจสอบได้ผลก็จะออกมาคลาดเคลื่อนไม่แม่นยำ
คุณจักรพันธ์ มีประสบการณ์ในการตวจสอบวัตถุมงคล พระเครื่อง และวัตถุต่างๆมากมาย ผมโชคดีมากที่ได้เจอคนที่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ มีการสอบถามและพูดคุยกันหลายเรื่องครับ ซึ่งบางเรื่องก็ตรงกับไอเดียที่ผมคิดเอาไว้ในเรื่องการทำข้อมูลของพระงั่ง สรุปว่า เราสามารถตรวจสอบส่วนผสมของโลหะในพระงั่งได้ (การตรวจไม่ได้บอกถึงอายุหรือความเก่าของพระงั่ง)
ถ้าจะสรุปแค่นี้ มันก็จะดูง่ายไปหน่อยครับ รอติดตามภาค 2 ต่อครับว่าหลังจากที่ผมได้เจอคนที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้แล้ว จะมีอะไรเพิ่มเติมตามมาอีกไหม
ตอนที่ 2 (29 ธ.ค. 65)
หลังจากที่ผมติดต่อคุณจักรพันธ์ หัวหน้าส่วนงานตรวจสอบวัสดุมีค่าได้แล้ว ผมจึงทำการเดินทางไปที่ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในวันที่ 29 ธ.ค. 65 เพื่อทำการส่งตัวอย่างพระงั่งบางส่วนเพื่อทำการตรวจสอบ
โดยการเดินทางในครั้งนี้ ทางผมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลและขอความรู้จากคุณจักรพันธ์ ถึงวิธีการและทเคนิคต่างๆในการตรวจสอบพระ วัตถุมงคล รวมถึงปรึกษาแนวทางในการทำฐานข้อมูลพระงั่ง ซึ่งการพูดคุยในครั้งนี้ใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่ง เรียกได้ว่าสำหรับผมแล้วได้ข้อมูลมาอย่างจุใจครับ การพูดคุยในเชิงวิชาการกับนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในด้านการตรวจสอบวัสดุมีค่า และมีประสบการณ์ในการตรวจสอบวัตถุมงคล พระโลหะ เพื่อทำฐานข้อมูลในสเกลระดับใหญ่ (ตรวจสอบพระพิมพ์เดียวกันจำนวนหลายร้อยองค์) ซึ่งใช้ระยะเวลาการตรวจนานร่วมปี อันนี้ครับที่เจ๋งมาก (ผมมาถูกที่จริงๆ) ลองชมบรรยากาศบางส่วนในเหตการณ์นี้ครับ
ผลตรวจยังไม่ออกนะครับ จะรู้ผลวันที่ 9 ม.ค. 66 หลังจากทราบผลแล้ว ผมต้องเขียนสรุปและแปลความหมายให้เข้าใจง่ายๆ น่าจะช่วงกลางเดือน คงได้ทราบผลการตรวจสอบองค์ประกอบและอายุของพระงั่งครับ
ตอนที่ 3 (14 ม.ค. 66)
หลังจากที่ผลการตรวจวิเคราะห์พระงั่งออกมาแล้ว เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 66 ผมตื่นเต้นมากครับ หลังจากที่ได้ผลมาแล้ว ผมเอาข้อมูลมาดูและวิเคราะห์ตัวเลขค่าต่างๆ พบว่ามีส่วนผสมบางอย่างในพระงั่งที่น่าสนใจครับ ตรงกับข้อมูลที่คุณจักรพันธ์ สุวรรณวิจิตร หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบโลหะมีค่า สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เคยบอกกับผมไว้ในครั้งที่พบกันว่า พระกริ่งที่คุณจักรพันธ์เคยตรวจสอบจำนวนหลายร้อยองค์ ทั้งของจริงและของปลอม (ใช้เวลาตรวจประมาณ 1 ปี) ผลที่ออกมาพบว่าพระกริ่งที่เป็นของแท้ ซึ่งผ่านการตรวจสอบและยืนยันโดยผู้เชี่ยวชาญในสายพระกริ่งมาแล้ว จะมีส่วนผสมของโลหะที่คล้ายๆกันทุกองค์ ไม่ว่าจะเป็นโลหะที่เป็นส่วนผสมหลัก และโลหะที่เป็นส่วนผสมรอง รวมถึงโลหะชนิดพิเศษ (TRACE) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระในแต่ละชุด (Batch) ส่วนของพระปลอมที่ทำขึ้นมาใหม่ ผลการตรวจวิเคราะห์จะพบส่วนผสมที่ไม่เหมือนกับพระแท้และที่สำคัญคือจะไม่มีส่วนประกอบของโลหะชนิดพิเศษ (TRACE) ซึ่งในจุดนี้ผมขออธิบายเพิ่มดังนี้ครับ
ในการหล่อพระ สูตรการผสมโละต่างๆ แต่ละโรงหล่อหรือช่างหล่อต่างๆ เค้าจะมีวิธีการผสมโลหะในการหลอมให้ได้เนื้อที่เหมาะสม ผมจะขอยกตัวอย่างเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้ครับ
เนื้อทองแดง – ทองแดงคือโลหะที่มีตามธรรมชาติ ตัวอักษรย่อในตารางธาตุคือ Cu (Copper) เป็นธาตุลำดับที่ 29 ในตารางธาตุ (ใครเคยเรียนวิชาเคมีตอน ม.4 น่าจะพอจำได้นะครับเพราะว่าจะต้องท่องจำสูตรธาตุในตารางธาตุนี้) คลิกดูข้อมูล ทองแดง ใน Wikipedia
เมื่อทองแดงเป็นโลหะที่มีในธรรมชาติ จึงสามารถหาทองแดงมาใช้หลอมและเทลงแม่พิมพ์ได้เลยโดยไม่ต้องผสมโลหะชนิดอื่น แต่ๆๆๆๆๆ การที่ใช้ทองแดงบริสุทธิ์มาหลอมและหล่อวัตถุมงคล จะทำให้พระหรือวัตถุมงคลนั้นไม่แข็งแรง (ยังไม่แข็งพอ) เนื่องจากทองแดงนั้นมีความเหนียวแต่ก็มีความนุ่มในตัว ความแข็งตัวไม่สูง (นิ่มกว่าทองเหลือง)ในขั้นตอนการหลอมจึงต้องผสมอย่างอื่นเข้าไปด้วย เพื่อให้ได้ความแข็งที่มากขึ้น ซึ่งส่วนตัวผมตั้งข้อสันนิษฐานไว้ 2 ข้อดังนี้ครับ
1.สมัยโบราณการหาแร่ธาตุบริสุทธิ์จากธรรมชาติ ยังไม่มีกระบวนการที่ทันสมัยเหมือนในปัจจุบัน การหลอมทองแดงจากแร่ทองแดงธรรมชาติจึงมีเปอร์เซ็นต์ (%) ทองแดงไม่เต็ม 100% อีกทั้งยังมีสูตรที่ต้องใส่มวลสารพิเศษ*เข้าไปอีก ทำให้เปอร์เซ็นต์ของทองแดงที่ตรวจพบในพระหรือวัตถุมงคล ไม่เต็ม 100%
2.ในยุคปัจจุบันที่สามารถหาซื้อเม็ดทองแดงบริสุทธิ์ได้แล้ว แต่ในการจัดสร้างวัตถุมงคลนั้นจะต้องใส่มวลสารพิเศษ* ลงในเบ้าหลอม เพื่อความขลังตามสูตรตามตำราในการจัดสร้างวัตถุมงคล ส่วนนี้จึงทำให้เวลาตรวจองค์ประกอบทางวิทยาศาสตร์ จะพบส่วนผสมของทองแดงไม่เต็ม 100% โดยจะพบว่ามีโลหะชนิดอื่นผสมอยู่ด้วย
ทั้ง 2 ข้อในข้างต้น ล้วนมีการใส่ *มวลสารพิเศษ ส่วนนี้เองครับที่เป็นโลหะพิเศษ (TRACE) ที่พบว่าผสมอยู่ในเนื้อพระ โดยโลหะพิเศษ (TRACE) นั้น สามารถมีมากกว่า 1 ชนิดได้ครับ ผมจะยกตัวอย่างดังนี้ครับ วัตถุมงคลที่ MODERN MAJIK จัดสร้าง จะมี 2 เนื้อหลัก ได้แก่ เนื้อสำริดมงคล (Golden Bronze) และเนื้อทองทิพย์ (Magic Brass)
เนื้อสำริดมงคล (Golden Bronze) คือ เนื้อทองแดงผสมมวลสารต่างๆ หล่อออกมาเนื้อจะมีสีแดง ประกอบด้วย
ส่วนผสมหลัก คือ ทองแดง (Copper) ส่วนนี้โรงหล่อเตรียมไว้
ส่วนผสมรอง ไม่มี
ส่วนผสมพิเศษ ได้แก่ สำริดโบราณ (Ancient Bronze) ตะกั่วชินโบราณ (Ancient Lead) และเงินโบราณ (Ancient Silver) และอื่นๆ ส่วนนี้ทางผู้จัดสร้างสร้างเตรียมไปเอง ซึ่งตอนใส่ก็ไม่ได้ทำการชั่ง/ตวง/วัด แต่อย่างใด ก็หยิบใส่ในปริมาณที่ทางโรงหล่อแนะนำ ซึ่งส่วนใหญ่จะใส่ไม่เยอะ เพราะหากใส่เยอะไป ชิ้นงานที่ออกมาอาจจะใช้ไม่ได้ อาจจะเปราะแตกง่าย หรือน้ำทอง (โลหะที่หลอมละลาย) เหนียวเกินไป เทแล้วไม่วิ่งเข้าแบบทำให้หล่อออกมาไม่เต็ม ชิ้นงานไม่สมบูรณ์ ซึ่งโรงหล่อจะไม่แฮปปี้ครับเพราะทำแล้วเสียของ ถ้าให้ผมประเมินด้วยสายตา ส่วนผสมพิเศษทั้งหมดใส่อยู่ที่ 5-10% เมื่อเทียบกับส่วนผสมทั้งหมด (ถ้าให้เล่าเรื่องเทคนิคการผสมเนื้อโลหะหรือเทคนิคการหล่อ ต้องเขียนบทความแยกครับ รายละอียดอย่างเยอะครับ)
เนื้อทองทิพย์ (Magic Brass) คือ เนื้อทองเหลืองผสมมวลสารต่างๆ หล่อออกมาเนื้อจะมีสีเหลือง ซึ่งทองเหลืองนั้นไม่ได้เป็นธาตุที่มีอยู่ในธรรมชาติ เป็นโลหะผสมระหว่างทองแดงและสังกะสี คลิกดูข้อมูล ทองเหลือง ใน Wikipedia ประกอบด้วย
ส่วนผสมหลัก คือ ทองแดง (Copper)
ส่วนผสมรอง คือ สังกะสี (Zinc) คลิกดูข้อมูล สังกะสี ใน Wikipedia
ส่วนผสมพิเศษ ได้แก่ สำริดโบราณ (Ancient Bronze) ตะกั่วชินโบราณ (Ancient Lead) และเงินโบราณ (Ancient Silver) และอื่นๆ
ซึ่งหากพิจารณาในส่วนประกอบของเนื้อพระทั้ง 2 แบบ (เนื้อสำริดมงคลและเนื้อทองทิพย์) ส่วนผสมทั้งหมดสามารถตรวจพบได้ด้วยวิธี X-Ray Fluorescence (เอ็กซเรย์ ฟลูออเรสเซนต์) ส่วนธาตุไหนหรือโลหะชนิดไหนจะมีสัดส่วนมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับตอนที่ผสมลงไปในเบ้าหลอมครับ ดังนั้นส่วนผสมพิเศษ (มวลสารพิเศษ) นี้จึงเปรียบเหมือนหลักฐานที่ทำให้เราสามารถสืบค้นเปรียบเทียบ พระในขั้นตอนการผสมโลหะตอนหล่อได้ครับ ลองนึกภาพว่า การตรวจองค์ประกอบทางโลหะวิทยาของพระงั่ง (ส่วนผสมทางโลหะ) เปรียบเสมือนการตรวจ DNA ของพระงั่ง ใช้ตรวจสอบว่าพระงั่งในแต่ละพิมพ์แต่ละเนื้อหรือแต่ละรุ่นนั้น ชุดไหนทำพร้อมกัน ชุดไหนทำคนละครั้ง ชุดไหนใช้โลหะเบ้าเดียวกัน ชุดไหนผสมโลหะคนละเนื้อ (การตรวจแบบนี้ไม่ได้ระบุถึงความเก่าของพระงั่งนะครับ แต่ต้องใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ข้อมูลสูตรและตำราการผสมโลหะในการหล่อของยุคต่างๆ ประกอบเข้าด้วยกันครับ)
สำหรับการตรวจพระงั่งในครั้งนี้ ก็เพื่อจะหาองค์ประกอบหรือส่วนผสมในเนื้อโลหะของพระงั่งครับ มาดูผลการตรวจกันครับว่าออกมาเป็นอย่างไร เลื่อนชมได้ทางด้านล่างเลยครับ
***สำหรับข้อมูลในเอกสารชุดนี้ ผมได้ทำการตัดแปลง 4 ส่วนคือ***
1.เพิ่มข้อความส่วนหัวและท้ายเอกสาร (ตัวอักษรสีน้ำเงิน) เพื่ออ้างอิงข้อมูลผู้จัดทำกรณีที่มีผู้นำเอกสารชุดนี้ไปเผยแพร่ต่อ ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นกลับมาที่ผู้จัดทำได้
2.ปกปิด “ข้อมูลส่วนบุคคล” และ “ข้อมูลลับ” (แถบสีดำ) ป้องกันข้อมูลถูกนำไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง
3.เพิ่มเติมคำอธิบาย (ตัวอักษรสีน้ำเงิน) ในเอกสาร เพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น
4.เพิ่มโลโก้ลายน้ำ MODERN MAJIK (ตรงกลางเอกสาร) เพื่ออ้างอิงข้อมูลผู้จัดทำกรณีที่มีผู้นำเอกสารชุดนี้ไปเผยแพร่ต่อ ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นกลับมาที่ผู้จัดทำได้
ข้อสรุปเบื้องต้นของผมมีดังนี้ครับ
*ถ้าเรานำพระงั่งพิมพ์เดียวกันมาทดสอบ แล้วพบว่าสัดส่วนโลหะมีเปอร์เซ็นต์ที่เหมือนกันเป๊ะ หรือใกล้เคียงกัน น่าจะเกิดจากการหลอมโดยใช้โลหะในเบ้าหลอมเดียวกัน (อาจจะหล่อพร้อมกันหรือไม่พร้อมกันก็ได้ เช่น วันนี้เทได้ 10 ช่อ เหนื่อยแล้วพักก่อน พรุ่งนี้ใช้โลหะในเบ้าเดิมมาหลอมแล้วเทใหม่ให้ครบจำนวน)
*ถ้าเรานำพระงั่งพิมพ์เดียวกันมาทดสอบ แล้วพบว่าสัดส่วนโลหะมีเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกันมาก น่าจะเกิดจากการหลอมในช่วงต่างเวลากันและใส่ส่วนผสมที่ต่างกัน (หล่อไม่พร้อมกันและใช้ส่วนผสมต่างกัน)
*ถ้าเรานำพระงั่งคนละพิมพ์มาทดสอบ แล้วพบว่าสัดส่วนโลหะมีเปอร์เซ็นต์ที่เหมือนกันเป๊ะ หรือใกล้เคียงกัน น่าจะเกิดจากการหลอมโดยใช้โลหะในเบ้าหลอมเดียวกัน (อาจจะหล่อพร้อมกันหรือไม่พร้อมกันก็ได้ เช่น วันนี้เทพระงั่งพิมพ์แรกครบ พรุ่งนี้ใช้โลหะในเบ้าเดิมมาหลอมแล้วเทพิมพ์อื่นต่อ)
*ถ้าเรานำพระงั่งคนละพิมพ์มาทดสอบ แล้วพบว่าสัดส่วนโลหะมีเปอร์เซ็นต์ที่แตกต่างกันมาก น่าจะเกิดจากการหลอมในช่วงต่างเวลากันและใส่ส่วนผสมที่ต่างกัน (หล่อไม่พร้อมกันและใช้ส่วนผสมต่างกัน)
ย้ำอีกครั้งนะครับว่าการตรวจหาส่วนผสมของโลหะในเนื้อพระงั่ง บอกไม่ได้ว่าพระงั่งนั้นเป็นของเก่าหรือของใหม่ มีอายุเท่าไหร่ ผลการตรวจเปอร์เซ็นต์ส่วนผสมในเนื้อพระงั่ง บอกได้แค่ว่าพระงั่งแต่ละองค์นั้นมีส่วนผสมเหมือนหรือแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน (ต้องใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ข้อมูลสูตรและตำราการผสมโลหะในการหล่อของยุคต่างๆ ประกอบเข้าด้วยกันครับจึงจะตั้งสมมติฐานได้ว่าพระงั่งพิมพ์ไหน ที่มีส่วนผสมสัดส่วนอย่างไร เป็นพระงั่งเก่าแท้)
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมเรียนรู้เรื่องการหล่อพระจากการจัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นต่างๆโดยการเข้าโรงหล่อแต่ละครั้งจะศึกษากระบวนการและวิธีการการหล่อพระงั่ง โดยสอบถามข้อมูลจากเจ้าของโรงหล่อ (นายช่างใหญ่) ถึงเทคนิคและวิธีการหล่อในสมัยโบราณรูปแบบต่างๆ และดูเทคนิคการหล่อในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากเมื่อใช้ความรู้นี้ประกอบกับวิธีการตรวจสอบองค์ประกอบทางโลหะของพระงั่ง เพราะว่าสามารถใช้ในการจัดทำฐานข้อมูลของพระงั่งตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้ ซึ่งเทคนิคนี้กรมศิลปากรก็ใช้ในการศึกษาและเก็บข้อมูลทองคำโบราณเช่นกัน
หลังจากนี้ ผมมีโครงการที่จะต้องดำเนินการต่อซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการพอสมควรคืบหน้าอย่างไร จะแจ้งให้ทราบเป็นระยะๆครับ
ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันมาจนถึงบรรทัดนี้ ไม่มีอะไรจะบอก นอกจากคำว่า รักนะ ม๊วฟ ๆ
ตอนที่ 4 (16 ม.ค.65)
หลังจากที่ผลตรวจส่วนประกอบทางโลหะวิทยาของพระงั่งทั้ง 9 องค์ ออกเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 66 เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ส่งผลเป็นไฟล์ PDF (Soft File) มาให้ผมทางไลน์ก่อน ซึ่งสะดวกมาเลยครับ ผมสามารถดูและอ่านค่าในเบื้องต้นได้ก่อนจากเอกสารในรูปแบบดิจิตอล โดยผมได้เก็บคำถามและข้อสงสัยบางประการไว้เพื่อที่จะไปปรึกษาคุณจักรพันธ์ในวันที่ไปรับตัวอย่างพระงั่งชุดแรกพร้อมทั้งรับเอกสารตรวจวิเคราะห์พระงั่ง
เมื่อไปถึงผมก็ยื่นเรื่องเพื่อรับเอกสาร โดยใช้เวลาไม่นานครับเพราะเอกสารพร้อมอยู่แล้ว แต่ที่ต้องใช้เวลาเพิ่มเพราะผมส่งพระงั่งเข้าตรวจวิเคราะห์เพิ่มอีก 9 องค์ครับ ซึ่งเป็นพระงั่งตาแดง พระงั่งตาโปน เนื้อและพิมพ์ต่างๆ แบบละ 2 องค์ รอบนี้เป็นการส่งตรวจวิเคราะห์เพื่อดูค่าส่วนผสมของเนื้อโลหะของพระงั่งในแต่ละพิมพ์ แต่ละเนื้อ (รอบแรกผมส่งพระงั่งตาโปน และพระงั่งตาแดงมาตรวจแล้ว 3 องค์) ถ้ารวมทั้ง 2 รอบ ผมจะมีตัวอย่างการตรวจวิเคราะห์พระงั่งตาแดง พระงั่งตาโปน รวม 12 องค์ แบ่งเป็น 6 พิมพ์
ถาม : ทำไมถึงต้องส่งพระงั่งตรวจเพิ่ม?
ตอบ : ผมต้องการสร้าง ฐานข้อมูลของพระงั่ง (Phra Ngang Library) เพื่อพิสูจน์ทราบสมมติฐานของผมเรื่อง “พระงั่งหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน”
เมื่อส่งพระงั่งตรวจสอบเรียบร้อย ผมก็แจ้งขอพบคุณจักรพันธ์ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบโลหะมีค่า สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อซักถามข้อสงสัยเกี่ยวกับผลวิเคราะห์องค์ประกอบทางโลหะที่ออกมาในรอบแรก โดบคำถามที่ผมสอบถามจะเกี่ยวกับเรื่องเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูลตัวเลข เช่น
*ธาตุชนิดใดบ้างที่จัดเป็นส่วนผสมหลัก ส่วนผสมรอง หรือส่วนผสมพิเศษ (ถ้าอ่านแล้วงง ให้ย้อนขึ้นไปดูตอนที่ 3)
*กรณีที่พบองค์ประกอบทางโลหะหลายๆธาตุในปริมาณ จะรู้ได้อย่างไรว่าธาตุตัวไหนเกิดจากกระบวนการหล่อ ซึ่งคำถามนี้นำไปสู่การอธิบายจากคุณจักรพันธ์เรื่องขั้นตอนการถลุงสินแร่ ในอดีตและในปัจจุบัน ซึ่งอันนี้ผมยังไม่เปิดเผยข้อมูลนะครับเพราะเป็นการรวบรวมข้อมูลในเบื้องต้น
*ใช้เกณฑ์หรือหลักการอะไรในการระบุว่า ธาตุนี้ตั้งใจใส่ในการะบวนการหล่อหรือธาตุไหนเกิดจากความไม่ตั้งใจ ซึ่งเหล่านี้ล้วนมีข้อพิสูจน์จากกระบวนการทดลองและเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มาแล้ว ยกตัวอย่างเช่น ถ้าตรวจเจอทองเป็นส่วนผสมในเนื้อพระมักจะตรวจเจอธาตุ X เป็นองค์ประกอบอยู่ด้วยเสมอ เนื่องจากกระบวนการในการทำทองสมัยก่อนต้องใช้ธาตุ X ด้วย ซึ่งในปัจจุบันกระบวนการทำทองไม่มีการใช้ธาต Xแล้ว (ธาตุ X คือชื่อสมมติ)
*ตัวเลขเชิงสถิติในการอ่านค่าวิเคราะห์องค์ประกอบทางโลหะวิทยาของพระงั่ง คุณจักพันธ์ได้อธิบายวิธีการและหลักการเบื้องต้นมาให้ผมแล้ว
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่ผมยกตัวอย่างมานั้น ยังไม่สามารถสรุปอะไรได้ทั้งสิ้นเพราะตอนนี้อยู่ในช่วงการเก็บข้อมูลตัวอย่าง (Sampling) ซึ่งในขั้นตอนนี้ ยิ่งมีข้อมูลตัวอย่างที่เยอะ ยิ่งทำให้การสรุปผลทำได้ง่ายและแม่นยำขึ้น ผมยกตัวอย่างให้เข้าใจง่ายๆดังนี้ครับ
ผมทำการทดลอง 3 วิธี
วิธีที่ 1 ผมนำตัวอย่างงั่งตาแดงเนื้อทองแดงเถื่อน องค์ที่เป็นของแท้ จำนวน 1 องค์ มาตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบทางโลหะวิทยาเพื่อดูว่ามีส่วนผสมอะไรบ้างในเนื้อพระ เมื่อได้ผลออกมาแล้ว ผมใช้ข้อมูลนี้เป็นต้นแบบเลย หลังจากนั้นหากผมต้องการตรวจงั่งตาแดงเนื้อทองแดงเถื่อนองค์อื่นๆ ผมก็จะเอาผลมาวิเคราะห์เทียบกับผลของตัวอย่างที่ผมตรวจเอาไว้ 1องค์
*หากผลออกมาเหมือนกัน ผมอาจจะสรุปว่าพระงั่งองค์ที่นำมาตรวจทีหลังเป็นของแท้ เพราะดูสภาพและตำหนิเบื้องต้นแล้วผ่าน องค์ประกอบทางวิทยาศาสตร์ที่ตรวจออกมาก็เหมือนกับตัวอย่างที่ผมมี
*หากผลออกมาไม่เหมือนกัน ผมอาจจะสรุปว่าพระงั่งที่นำมาตรวจสอบนั้น เป็นของปลอม เพราะค่าไม่เหมือนกับตัวอย่างมาตรฐานที่ผมมี
วิธีที่ 2 ผมนำตัวอย่างงั่งตาแดงเนื้อทองแดงเถื่อน องค์ที่เป็นของแท้ จำนวน 10 องค์ มาตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบทางโลหะวิทยาเพื่อดูว่ามีส่วนผสมอะไรบ้างในเนื้อพระ เมื่อได้ผลออกมาแล้ว ผมพบว่ามีองค์ประกอบที่คล้ายๆกัน แต่ตัวเลขไม่เหมือนกันเป๊ะ (ตัวอย่างเช่น ใน 10 องค์นี้พบว่ามีส่วนประกอบของทองแดงอยู่ในช่วง 92-95 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือพบว่ามีส่วนผสมของโลหะชนิดอื่นๆอีก 3-4 ธาตุ ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน) และผมก็ใช้ข้อมูลนี้เป็นค่ามาตรฐาน หากผมต้องการตรวจงั่งตาแดงเนื้อทองแดงเถื่อนองค์อื่น ผมก็จะเอาผลการตรวจวิเคราะห์มาเทียบกับผลของตัวอย่างที่ผมตรวจเอาไว้ 10 องค์
*หากผลออกมาใกล้เคียงกัน พบค่าส่วนผสมของทองแดงอยู่ในช่วง 92-95 เปอร์เซ็นต์ และพบว่ามีโลหะชนิดอื่นๆ อีกซึ่งเหมือนกับข้อมูลที่ตรวจพบในพระงั่งต้นแบบ 10 องค์ ผมอาจจะสรุปว่าพระงั่งองค์ที่นำมาตรวจทีหลังเป็นของแท้ เพราะดูสภาพและตำหนิเบื้องต้นแล้วผ่าน องค์ประกอบทางวิทยาศาสตร์ที่ตรวจออกมา มีค่าใกล้เคียงกับข้อมูลชุดตัวอย่างที่ผมเก็บข้อมูลไว้
*หากผลออกมาไม่เหมือนกันและองค์ประกอบทางโลหะแตกต่างกับผลวิเคราะห์ของพระงั่งตัวอย่างทั้ง 10 องค์ ผมอาจจะสรุปว่าพระงั่งที่นำมาตรวจสอบนั้น เป็นของปลอม เพราะค่าไม่เหมือนกับตัวอย่างมาตรฐานที่ผมมี
วิธีที่ 3 ผมนำตัวอย่างงั่งตาแดงเนื้อทองแดงเถื่อน องค์ที่เป็นของแท้ จำนวน 100 องค์ มาตรวจวิเคราะห์องค์ประกอบทางโลหะวิทยาเพื่อดูว่ามีส่วนผสมอะไรบ้างในเนื้อพระ เมื่อได้ผลออกมาแล้ว ผมพบว่ามีองค์ประกอบที่คล้ายๆกัน แต่ตัวเลขไม่เหมือนกันเป๊ะ (ตัวอย่างเช่น ใน 100 องค์นี้พบว่ามีส่วนประกอบของทองแดงอยู่ในช่วง 90-97 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือพบว่ามีส่วนผสมของโลหะชนิดอื่นๆอีก 3-6 ธาตุ ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน แล้วก็ยังพบว่ามีโลหะชนิดพิเศษ 1 ชนิดที่ตรวจพบทุกองค์) และผมก็ใช้ข้อมูลนี้เป็นค่ามาตรฐาน หากผมต้องการตรวจงั่งตาแดงเนื้อทองแดงเถื่อนองค์อื่น ผมก็จะเอาผลการตรวจวิเคราะห์มาเทียบกับผลของตัวอย่างที่ผมตรวจเอาไว้ 100 องค์
*หากผลออกมาใกล้เคียงกัน พบค่าส่วนผสมของทองแดงอยู่ในช่วง 90-97 เปอร์เซ็นต์ และพบว่ามีโลหะชนิดอื่นๆ อีก แล้วก็ยังพบโลหะชนิดพิเศษอีก 1 ชนิด เหมือนกับข้อมูลที่ตรวจพบในพระงั่งต้นแบบ 100 องค์ ผมอาจจะสรุปว่าพระงั่งองค์ที่นำมาตรวจทีหลังเป็นของแท้ เพราะดูสภาพและตำหนิเบื้องต้นแล้วผ่าน องค์ประกอบทางวิทยาศาสตร์ที่ตรวจออกมา มีค่าใกล้เคียงกับข้อมูลชุดตัวอย่างที่ผมเก็บข้อมูลไว้ ที่สำคัญยังพบส่วนผสมพิเศษ (Trace) ที่มีในพระงั่งตาแดงเนื้ทองแดงเถื่อนที่เป็นของแท้ทั้ง 100 องค์
*หากผลออกมาไม่เหมือนกันและองค์ประกอบทางโลหะแตกต่างกับผลวิเคราะห์ของพระงั่งตัวอย่างทั้ง 100 องค์ อีกทั้งยังไม่พบส่วนผสมพิเศษ (Trace) ผมอาจจะสรุปว่าพระงั่งที่นำมาตรวจสอบนั้น เป็นของปลอม เพราะค่าไม่เหมือนกับตัวอย่างมาตรฐานที่ผมมี และไม่มีโลหะพิเศษที่พบในพระงั่งตาแดงเนื้อทองแดงเถื่อนของแท้!!!
จากทั้ง 3 วิธีข้างต้น ลองคิดภาพตามครับว่าวิธีไหนดูน่าเชื่อถือและมีความแม่นยำมากกว่ากัน ในทางสถิติหากมีข้อมูลตัวอย่างที่ใช้ทดสอบมาก ความแม่นยำและความน่าเชื่อถือทางสถิติก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน หากยังไม่เข้าใจในส่วนที่ผมอธิบายไว้ทั้ง 3 วิธีข้างต้น ผมมีอีกวิธีที่อธิบายเพิ่มเติมให้ครับ
นาย ก มีพระงั่งตาโปนเนื้อทองแดงเถื่อน ที่เป็นของแท้ 1 องค์ จดจำตำหนิและลักษณะต่างๆของพระตัวเองได้แม่นยำ และเคยจับพระงั่งตาโปนเนื้อทองแดงเถื่อนของแท้ของคนอื่นมาบ้างแต่จดจำตำหนิและลักษณะต่างๆยังไม่ได้ พอมีการตรวจสอบเปรียบเทียบพระงั่งตาโปนเนื้อทองแดงเถื่อนของตัวเองกับพระงั่งของคนอื่นที่สภาพไม่เหมือนกับของที่ตัวเองมี จึงยึดตำหนิและลักษณะพระที่ตัวเองมีเป็นหลัก ซึ่งข้อมูลพื้นฐานในการประมวลผลที่มีน้อยในเชิงสถิติถือว่าไม่น่าเชื่อถือ อาจจะทำให้การตรวจสอบพระงั่งตาโปนเนื้อทองแดงเถื่อนองค์อื่นๆนั้นไม่แม่นยำ
นาย ข มีพระงั่งตาโปนเนื้อทองแดงเถื่อน ที่เป็นของแท้ 50 องค์ จดจำตำหนิและลักษณะและสภาพเนื้อต่างๆของพระตัวเองได้แม่นยำ และเคยจับพระงั่งตาโปนเนื้อทองแดงเถื่อนของแท้ของคนอื่นหลายองค์ ทำให้เห็นสภาพ เนื้อ ความแตกต่างของพระงั่งตาโปนเนื้อทองแดงเถื่อนได้กว้าง พอมีการตรวจสอบเปรียบเทียบพระงั่งตาโปนเนื้อทองแดงเถื่อน จึงมีข้อมูลที่ใช้เปรียบเทียบมากกว่านาย ก ซึ่งข้อมูลส่วนนี้ทำให้การสรุปผลการตรวจสอบพระงั่งตาโปนเนื้อทองแดงเถื่อนในเชิงสถิติ มีความแม่นยำสูง
นาย ค มีพระงั่งตาโปนเนื้อทองแดงเถื่อน ที่เป็นของแท้ 100 องค์ และผ่านของปลอมมาแล้ว 100 องค์ ซึ่งจดจำตำหนิและลักษณะของทั้งพระงั่งตาโปนเนื้อทองแดงเถื่อนทั้งของแท้และของปลอมได้ทุกสภาพ อีกทั้งยังมีพระงั่งตาโปนเนื้อทองแดงเถื่อนของแท้และของปลอมผ่านมือตลอดเวลา ทำให้เห็นสภาพ เนื้อ ความแตกต่างของพระงั่งตาโปนเนื้อทองแดงเถื่อนทุกรูปแบบ พอมีการตรวจสอบเปรียบเทียบพระงั่งตาโปนเนื้อทองแดงเถื่อน จึงมีข้อมูลที่ใช้เปรียบเทียบมากกว่านาย ก และนาย ข ซึ่งในเชิงสถิติ ถือว่านาย ค มีข้อมูลในการวิเคราะห์และการสรุปผลที่มีความแม่นยำสูงมากกว่า นายก และนาย ข
ไม่ว่าจะเป็นวิธีการที่ 1-3 หรือ นาย ก / นาย ข / นาย ค ทั้งหมดนี้ล้วนใช้การเก็บข้อมูลทั้งสิ้น คือ การทดสอบด้วยจำนวนตัวอย่างที่น้อย (1 องค์) เทียบกับจำนวนตัวอย่างขนาดกลาง (50 องค์) เทียบกับจำนวนตัวอย่างปริมาณมาก (100 องค์) หรือการที่มีพระตัวอย่างที่เป็นของแท้ 1 องค์ / 50 องค์ / 100 องค์ ซึ่งบทสรุปคือ ต้องใช้การก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณมาก ความแม่นยำถึงจะสูงและน่าเชื่อถือครับ
นี่คือเหตุผลที่ผมส่งพระงั่งตาโปนและตาแดงเนื้อและพิมพ์ต่างๆเข้าตรวจสอบ ผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็คงยังสรุปอะไรไม่ได้ครับ ใช้เป็นตัวเลขอ้างอิงและเพื่อตั้งสมมตฺฐานเท่านั้นครับ ซึ่งในขั้นตอนนี้ผมตั้งใจจะใช้เวลาในปี 2566 ทำการเก็บข้อมูลการตรวจสอบไปเรื่อยๆ หากมีข้อมูลเพิ่มเติมก็จะมาอัพเดทเป็นระยะๆครับ แค่คิดก็สนุกแล้วครับ 555
ดังนั้นผมขอตั้งชื่อโปรเจคนี้ว่า PROJECT MERCURY (โปร-เจ็ค-เมอ-คิว-รี่)
Mercury (อ่านว่า เมอ-คิว-รี่) แปลว่าปรอท สาเหตุที่ตั้งชื่อนี้เพราะว่า….ติดตามต่อตอนถัดไปครับ บรุย
ตอนที่ 5 (23 ม.ค.65)
ผลการตรวจสอบองค์ประกอบทางโลหะรอบที่ 2 ออกมาแล้วครับ ส่งตรวจเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 66 จำนวน 9 องค์ รอบนี้เน้นเฉพาะงั่งตาโปนและตาแดงเลยครับ
ถ้าติดตามมาตั้งแต่ครั้งแรกคงจำกันได้นะครับว่าผมส่งงั่งทองแดงเถื่อนไปตรวจ 2 องค์ ซึ่งผลที่ตรวจได้คือมีส่วนผสมของทองแดง 95-98 เปอร์เซ็นต์ รอบนี้ก็เช่นกันครับ ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์สำหรับพระงั่งทองแดงเถื่อน ตรวจพบทองแดงผสมอยู่ในระดับ 88-99 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งองค์ที่เปอร์เซ็นต์ทองแดงต่ำที่สุด 88 เปอร์เซ็นต์ พบว่ามีส่วนผสมรองอยู่ 3 ชนิดในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งองค์นี้ผมต้องจับตาดูข้อมูลเป็นพิเศษครับเพราะแตกต่างจากพระงั่งทองแดงเถื่อนองค์อื่นๆ ทั้งตาแดงและตาโปน
ที่ผมบอกไปว่ารอบนี้ที่ส่งพระงั่งพิมพ์แปลกๆเพิ่มเติม เพราะผมต้องการสืบค้นหาที่มาของ #พระงั่งหลวงพ่อเงินวัดบางคลาน หรือ #พระเฉลิมพล ว่ามีจริงไหม แท้จริงเป็นอย่างไร
ผมให้ดูข้อมูลผบการวิเคราะห์ทางโลหะของพระงั่งตามนี้ครับ
รายการตรวจที่ 3* / 4* / 7** / 8** เป็นพระงั่งที่มีข้อมูลบันทึกว่าเป็นพระงั่งหลวงพ่อเงินวัดบางคลาน (พระเฉลิมพล) ซึ่งเนื้อที่เห็นจะแบ่งออกเป็น 2 สีหลักๆ
*รายการที่ 3 และ 4 ผิวพระจะออกสีน้ำตาล องค์ที่ใช้งานจนผิวเปิดจะมีสีออกทองๆ ซึ่งผมจะเรียกว่าเนื้อทองผสม (บางคนอาจจะเจอเป็นสีแดงเหมือนเนื้อทองแดงเถื่อน หลังจากเห็นส่วนผสมทางโลหะแล้วผมก็ไม่แปลกใจครับว่าทำไมถึงมีสีแบบนี้) ซึ่ง 2 องค์นี้ มีส่วนผสมที่ใกล้เคียงกันมากครับ คือมีทองแดงเป็นหลัก คือ 90-91 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือจะมีส่วนผมรองอีก 5 ชนิดที่เหมือนกัน ในสัดส่วนที่ใกล้กันมาก เรียกว่าถ้าไม่ได้หล่อพร้อมกัน ก็ผสมโลหะสูตรเดียวกันเลยครับ เนื่องจากพิมพ์ไม่เหมือนกันเป๊ะ แต่พิมพ์จะใกล้เคียงกันมากดูแล้วเป็นศิลป์เดียวกันต่างกันที่เกศจะเอียงซ้ายหรือเอียงขวา มีทั้งเกศงอมากและงอน้อย ถ้าใครเล่นมานานน่าจะคุ้นนะครับสำหรับพิมพ์นี้ เป็นงั่งตาโปนขนาดไม่ใหญ่มาก (เล็กกว่าพิมพ์หน้าลิง) ส่วนใหญ่ที่พบจะอุดกริ่ง องค์บางๆ ขนาดกำลังน่ารักครับ
**รายการที่ 7 และ 8 พิมพ์นี้จะเป็นตาทองแดง พิมพ์นี้ผม LOVE มากครับ เนื้อจะชัดเจนว่าเป็นสีทอง ผมก็เรียกว่าเนื้อทองผสมเช่นกันครับ ส่วนผสมของ 2 องค์นี้ก็จะคล้ายกันครับ โลหะหลักคือทองแดงและสังกะสี (ส่วนผสมของทองเหลือง) ส่วนผสมที่เหลืออีก 4 ชนิดจะเหมือนกับรายการที่ 3 และ 4 ครับ ซึ่งอันนี้น่าสนใจครับ โดยเฉพาะองค์ที่ 8 มีส่วนผสมพิเศษเพิ่มมาอีก 1 อย่างครับ ซึ่งก็เป็นข้อมูลลับอีกเช่นเคยครับ 555
แหม่ๆๆ เดี๋ยวจะหาว่าเอะอะก็ข้อมูลลับ ใบ้ให้นิดนึงครับว่าเป็นโลหะมีค่าที่นิยมมาทำเครื่องประดับ บอกแค่นี้พอครับ
โห…เล่ามายาว ไม่พูดถึงงั่งทองแดงเถื่อนเลย
ก็บอกไม่ตั้งแต่ต้นแล้วครับว่ารอบที่แล้วก็ส่งตรวจมาครั้งนึงแล้ว รู้องค์ประกอบอยู่แล้วว่ามีอะไรบ้าง ดังนั้นรอบนี้ไฮไลท์จึงเป็นผลตรวจพระงั่งรายการที่ 3 / 4 / 7 / 8 ครับ
สรุปอีกรอบนะครับ การตรวจสอบองค์ประกอบทางโลหะของพระงั่ง ไม่สามารถระบุความเก่าของพระงั่งได้ครับ สามารถตรวจได้ว่าพระงั่งแต่ละองค์มีโลหะอะไรผสมอยู่บ้าง ซึ่งการตรวจที่ผมทำอยู่นี้เพื่อจะสร้างฐานข้อมูลพระงั่ง (Phra Ngang Library) ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลตัวอย่างเอาไว้เยอะก่อนครับ จากนั้นจึงค่อยตั้งสมมติฐานตามหลักฐานอ้างอิงอื่นๆ เช่นบันทึกหรือข้อมูลทางประวัติศาสตร์และอื่นๆ
ถึงเวลาเฉลยแล้วครับว่าทำไมผมถึงตั้งชื่อโครงการนี้ว่า “โปรเจ็คเมอคิวรี่” ย้อนกลับไปตอนที่ 1 ผมคุยกับคุณจักพันธ์ หัวหน้าฝ่ายตรวจสอบโลหะมีค่า สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้ความว่าโลหะพิเศษ (TRACE) ที่ตรวจพบเจอในพระกริ่งในการทดลองทำข้อมูลครั้งนั้นก็คือ “ปรอท” ภาษาอังกฤษคือ Mercury (อ่านว่า เมอ-คิว-รี่) ซึ่งผมชื่อนี้ อ่านง่าย ฟังแล้วเพราะ ที่สำคัญคือคุ้นหูและจำง่ายดี เลยขอเอาชื่อมาใช้ในโครงการการทำฐานข้อมูลพระงั่งครับ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แล…..
#ProjectMercury
#โปรเจคเมอคิวรี่
#ฐานข้อมูลพระงั่ง
#PhraNgangLibrary
#โมเดิร์นเมจิค#MODERNMAJIK